ย้อนไปถึงประมาณ 1000-600 ปี ก่อน ค.ศ. ตั้งแต่ยุคอารยธรรมอารยัน ชาวอารยันขยายดินแดนจากลุ่มแม่น้ำคงคาลงมาถึงเมืองเดลลีปัจจุบัน ชาวอารยันเริ่มมีการแต่งงานกับชาวพื้นเมือง จนเกิดตำนานการแบ่งชนชั้นวรรณะเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ (Brahmins) กษัตริย์ (Kshatriyas) แพศย์ (Vaishyas) และศูทธ (Sudras) เกิดขึ้น เพื่อรํกษาเผ่าพันธุ์อารยันให้บริสุทธ์ โดยกฎแห่งวรรณะคือห้ามมิให้มีการแต่งงานข้ามวรรณะโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นลูกที่เกิดมาจะกลายเป็นวรรณะต่ำสุดหรือจัณฑาล (Dalits หรือ Untouchable) ที่แต่ละวรรณะ จะไม่มีใครคบหา
ปรัชญา Caste คือมนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีภาระหน้าที่ตายตัว วรรณะพราหมณ์จะทำหน้าที่ประสาทวิชาให้ความรู้ และจดจำคำสอนพระเวทเพื่อถ่ายทอดต่อๆมา วรรณะกษัตรย์มีหน้าที่ปกครองและป้องกันประเทศ วรรณะแพศย์ คือพวกพ่อค้าทำมาหากิน ขณะที่ศูทธคือผู้รับใช้ของวรรณะต่างๆ การที่สังคมจะสงบสุขได้ ทุกคนในสังคมจะต้องรู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ใช้สิทธิเท่าที่มี และทำหน้าที่เฉพาะของตัวเองนั้นให้ดีที่สุด ถือเป็นโครงสร้างการป้องกันปัญหา ที่จะเกิดจากความคิดเห็นไม่ตรงกันของคนในสังคมที่ได้ผลระดับหนึ่ง
ในกาลต่อมาคำว่าวรรณะได้แตกย่อยไปมากมาย ตามภาระหน้าที่ในสังคมที่แตกต่างกันออกไป ว่ากันว่ามีประมาณ 3000 วรรณะ (Caste) และ 25000 วรรณะย่อย (Sub-Caste) ซึ่งเราๆอาจจะไม่รู้แต่อินเดียกันเอง เขาจะรู้ว่าใครอยู่วรรณะใด อาจจะโดย นามสกุล หรือ ชื่อกลาง ที่เป็นที่บ่งบอก แม้ปัจจุบันตามกฎหมายจะไม่มีระบบวรรณะหลงเหลืออยู่อีกแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง การทำงานในสังคมอินเดียยังอิงระบบวรรณะอยู่อีกมาก แต่ไม่ได้เรียกว่า Caste เช่นแต่ก่อน โดยใช้คำว่า Hierarchy คือการปกครองแบบชนชั้นเหมือนระบบทหารแทน แต่ละชนชั้นจะบ่งบอกถึงสถานภาพ (Status) ในสังคมของคนนั้นๆ คนในสถานะภาพต่ำกว่าจะยอมรับนับถือในคนที่มีสถานภาพสูงกว่า หากเราเข้าใจพื้นฐานความจริงทางสังคมของอินเดีย เราก็พอจะเข้าใจว่าทำไมเขาจึงต้องมีระบบ Hierarchy
อินเดียมีประชากร 1100 ล้านคน ชนชั้นกลางขึ้นไปประมาณ 300 ล้าน ที่เหลือ 800 ล้านคือคนยากจนที่มีความรู้ต่ำกว่ามัธยม จะมีกฎหมายหรือระเบียบทางสังคมอะไร ที่สามารถจัดระบบทางสังคมให้คน 800 ล้าน มีงานทำ มีอาหารกินพอ 3 มื้อได้ ขณะที่ประเทศก็มีงานจำนวนจำกัด จึงจำเป็นที่ต้องกระจายงานออกไปให้ย่อยๆมากที่สุด แล้วสังคมจะต้องเคารพกฎว่า แต่ละคนจะทำงานหน้าที่ของตนเพียงหน้าที่เดียวนะ เพื่อให้คนอื่นๆได้มีงานทำและมีรายได้ เช่นเดียวกัน คุณจะแย่งงานหน้าที่คนอื่นไม่ได้ โดยเด็ดขาดมิฉะนั้นสังคมจะพิพากษาและอัปเปหิคุณออกจากสังคม หากถือว่าคน 800 ล้านกำลังเข้าแถวเพื่อทำงาน หากคุณลัดคิวเพื่อไปแย่งงานคนอื่นโดยไม่ยอมอดทนเพื่อรอคิวคุณจะมาถึง คน 799 ล้านคนจะอัปเปหิคุณ และไล่คุณลงไปเข้าแถวลำดับสุดท้าย ลำดับที่ 800 ล้านใหม่ ลองคิดดูสิว่าหากเป็นคุณที่ถูกอัปเปหินั้น ชาตินี้คุณจะมีโอกาสครั้งที่ 2 ในชีวิตไหม
การทำธุรกิจในอินเดีย จึงต้องเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ให้ดี แม้บางครั้งจะรู้สึกแปลกๆสำหรับชาวต่างชาติอยู่บ้าง เช่น
- พนักงานขับรถ จะล้างรถไม่เป็น ล้างรถเป็นหน้าที่คนอื่น ที่คุณจะต้องจ้างพนักงานแยก อีกต่างหาก
- Boss จะยอมเสียเวลาเพื่อกดออดเรียกพนักงานออฟฟิตบอยจากนอกห้อง มายกเก้าอี้ให้แขก ทั้งที่เก้าอี้ที่ว่า อยู่ใกล้ๆตัว boss นะแหละ (หาก Boss ยกเอง ก็คงเสร็จเรียบร้อย และประชุมได้เร็วขึ้นอย่างน้อยก็ 10 นาที)
- เลขานุการได้รับกล่องเอกสาร จะยอมที่จะเสียเวลาเรียกพนักงานรับใช้ในออฟฟิตมาช่วยแกะกล่องให้ (ทั้งที่หากเลขาฯแกะกล่องเอง ก็คงเอาเอกสารในกล่องนั้นไปให้ Boss เร็วขึ้นอย่างน้อยก็ 10 นาที)
- คุณ (คนต่างชาติ) จะต้องมั่นใจว่าคนที่คุณกำลังจะไปเจรจาธุรกิจด้วยนั้น มีหน้าที่ตำแหน่งระดับเดียวกับคุณ หากคุณตำแหน่งต่ำกว่า คุณจะต้องทำใจที่คนมาเจรจากับคุณไม่ใช่คนที่คุณจะคุยด้วย แต่เป็นคนที่ตำแหน่งระดับเดียวกับคุณ ที่ไม่รู้เรื่องงานอะไรเลย
- และ ฯลฯ
การทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการทำธุรกิจในอินเดีย ไม่มีวัฒนธรรมของชาติใด ดีกว่าของชาติใด วัฒนธรรมของแต่ละชาติต่างก็มีข้อดีและเหมาะสมกับคนในสังคมของเขา การเข้าใจวัฒนธรรมข้อนี้ เป็นบันไดขั้นแรกๆในการทำธุรกิจในอินเดียให้ประสบความสำเร็จครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น