วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Transfer Pricing Regulation ที่ต้องรู้

พระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องโยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินของอินเดีย หรือ Indian Transfer Pricing Regulation ระบุอยู่ใน Section 92-92F ของ Indian Income Tax Act 1961 มีสาระหลักเขียนให้อ่านเข้าใจง่ายๆแบบไม่ต้องจบกฎหมายหรือบัญชี ก็รู้เรื่อง คือ Transaction หรือการจ่ายเงินรับเงินระหว่าง 2 บริษัทจะเข้าข่ายต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติโยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สิน (Transfer Pricing Regulation) ก็ต่อเมื่อ
  1. เป็นการจัดซื้อ จัดจ้างระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน ไม่ว่าบริษัทแม่ทำกับบริษัทลูก หรือบริษัทลูกทำกับบริษัทลูกด้วยกันก็ตาม และ
  2. บริษัทหนึ่งจดทะเบียนอยู่ในอินเดีย ขณะที่คู่สัญญาอีกบริษัทจดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ
หากมีการทำข้อตกลงจัดซื้อ จัดจ้างเข้าข่ายข้อ 1 และ 2 เมื่อใดก็ตาม พึงตระหนักไว้เลยว่า การจ่ายเงินรับเงินตามสัญญาดังกล่าวเข้าข่ายจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยผู้ตรวจสอบบัญชี ว่าเป็นไปตาม Transfer Pricing Regulation ข้างต้น ซึ่งจะต้องเตรียมพร้อมที่จะพิจารณาในประเด็น
  • ราคาซื้อ/จ้าง ระหว่างกัน จะต้องเป็นราคาที่สมเหตุสมผล มีการตรวจสอบ ศึกษาและรับรองโดยผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) ทุกครั้ง
  • ราคาสมเหตุสมผลที่ว่าหรืออินเดียใช้คำว่า “within arm length price” คือราคาที่เป็นราคาซื้อขาย หรือว่าจ้างกันในตลาด ตรวจสอบได้ ว่าไม่ได้สูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง
ข้อพึงระวัง: หากเป็นการซื้อขาย/ว่าจ้าง ดำเนินเรื่องธรรมดาๆ เช่นก่อสร้างอาคาร ก่อสร้างถนน หรือ จ้างประกอบโครงเหล็ก เหล่านี้สามารถ ตรวจสอบราคา และรับรองโดย Auditor ได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องทั่วไปสามารถหาราคาจากภายนอกมาประกอบการพิจารณาได้ไม่ยาก
แต่หากเป็นการว่าจ้างที่เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น Technical Service เหล่านี้ การที่จะพิจารณาว่าราคาว่าจ้างระหว่างกันสมเหตุสมผลหรือไม่ บางครั้ง Auditor ก็ไม่รู้จะพิจารณาอย่างไร เพราะไม่ใช่ service ที่ปริการกันทั่วไป สุดท้ายก็มีปัญหาการรับรองราคา ต่อเนื่องไปจนถึงการรับรองผลทางบัญชีตามมา
คำแนะนำ: เนื่องจากการส่งพนักงานไปทำงานที่อินเดีย บางครั้งก็เกิดค่าใช้จ่ายที่เมืองไทย จำเป็นที่ต้องได้รับการชำระคืน (Reimbursement) จากบริษัทลูกที่อินเดีย แต่เนื่องจากไม่สามารถชำระคืนได้ด้วยวิธีปรกติ หลายๆกรณีจึงมักมีการทำ สัญญา จัดซื้อ/จัดจ้าง ระหว่างกันขึ้น เพื่อใช้เป็นช่องทางส่งเงินกลับไปชำระค่าใช้จ่ายที่เมืองไทยได้ และเพื่อให้สัญญาว่าจ้างนี้ไม่มีปัญหา และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยผู้ตรวจสอบบัญชี ตาม Transfer Pricing Regulation นี้ ก็ควรหาบริษัทตัวแทน (Nominee) มาเป็นคู่สัญญากับบริษัทลูกในอินเดียแทน เพื่อจะได้ไม่เข้าข่ายตามเกณฑ์ข้อ 1 ข้างต้น

SSA ที่รัฐบาลไทยต้องเร่งลงนามกับอินเดีย

SSA หรือ Social Security Agreement เป็นสนธิสัญญาหนึ่งที่อินเดียกำลังเจรจาและลงนามกับประเทศต่างๆที่ล่าสุดก็เพิ่งลงนามกับประเทศเนเธอแลนด์ไปเมื่อ 22 ตุลาคม 2009 ที่ผ่านมา ถึงตอนนี้อินเดียก็ลงนามสนธิสัญญาดังกล่าวนี้ไปแล้วกับประเทศต่างๆรวม 6 ประเทศคือ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศษ เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก รวมล่าสุดเนเธอแลนด์

SSA เป็นสนธิสัญญาเพื่อผลประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ส่งคนงานของตัวเองไปทำงานยังประเทศคู่สัญญา เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 5 ปี ที่ไม่จำเป็นต้องเสียและสมทบเงินประกันสังคม (Social Security) ในประเทศที่คนงานไปทำงาน เพียงแต่นำส่งและสมทบในประเทศของตัวเองเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันนี้แรงงานไทยที่ไปทำงานที่อินเดีย จะมีการเสียและสมทบเงินประกันสังคมทั้ง 2 ทางคือทั้งที่เมืองไทย และอินเดีย โดยที่อินเดียจะถูกหัก 8.33% ของเงินเดือนหรือสูงสุดประมาณ 541 รูปี/เดือน (คิดจากฐานเงินเดือนเบสิก สูงสุดไม่เกิน 6500 รูปี/เดือน) จาก 12% ของเงินเดือนเบสิก ที่เป็นส่วนสมทบของนายจ้างเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กล่าวคือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนของนายจ้าง แทนที่พนักงานจะได้เต็ม 12% จะถูกหักไป 541 รูปี ทุกเดือน เงินจำนวนนี้หากพนักงานสิ้นสุดสัญญาจ้างกลับไปเมืองไทย ก็จะไม่ได้รับคืนจากรัฐบาลอินเดียแต่อย่างใด

สาระเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผลประโยชน์จำนวนเงินมหาศาล แต่เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ของประเทศที่จะมองเรื่องนี้อย่างไร เราจะเป็น Top 10 ที่จะลงนาม SSA กับอินเดีย หรือจะปล่อยให้ชาวบ้านเขาลงนามกันไปหมด แล้วรอให้อินเดียเขาไปเคาะประตูบ้านเพื่อให้ตื่นไปลงนามเป็นประเทศสุดท้าย สำคัญที่สุดในขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซี่ยนในปัจจุบัน เราจะรู้สึกอย่างไร หากประเทศอาเซียนอื่นลงนามสนธิสัญญานี้ไปก่อนไทย

วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อินเดียออกมาตรการเข็มงวดแรงงานต่างชาติ

จากเหตุการณ์วันที่ 23 กันยายน 2509 ที่เกิดการพังถล่มของปล่อง Chimney โรงไฟฟ้าในรัฐ Chhattisgarh ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างโดยบริษัท Shandong Electric Power Corporation ที่ไปรับสัญญาจ้างต่อมาจาก Bharat Aluminum Ltd บริษัทลูกในอินเดีย ของยักษ์ใหญ่อลูมิเนียม Vedenta ของ UK อีกต่อหนึ่ง เป็นผลให้มีคนงานตายไปประมาณ 41 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศจีน ที่บริษัท Shandong ว่าจ้างไปก่อสร้างงานนี้

ถัดจากนั้น 2 วัน กระทรวงมหาดไทย (Home Affairs) ก็ได้ออกคำสั่งด่วนที่ 25022/52/09-F.iV ลงวันที่ 25 กันยายน 2509 แจ้งแก่ Home Secretaries ของทุกรัฐรวมทั้ง FRRO=Foreign Regional Registration Officers ของเมืองใหญ่ 5 เมืองคือ Delhi, Kolkata, Mumbai, Chennai และ Amritar เพื่อปรับปรุงคำสั่งก่อนนี้ว่าด้วยเรื่องการออกวีซ่าให้ชาวต่างชาติ
สาระหลักของคำสั่งนี้ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทก่อสร้างที่จะนำแรงงานไปทำงานในอินเดียคือ

  1. ชาวต่างชาติผู้ใด ที่ทำงานอยู่ตามโครงการต่างๆและถือ Business Visa จะต้องออกนอกประเทศอินเดียทันที ภายใน 31 ตุลาคม 2009
  2. ชาวต่างชาติที่ทำงานยังโครงการต่างๆ จะต้องถือ Employment Visa เท่านั้น
  3. Employment Visa ที่จะออกให้แรงงานต่างชาติไปทำงานในอินเดียได้ จะต้องเป็นแรงงานฝีมือที่ขาดแคลนในอินเดียเท่านั้น
จากคำสั่งดังกล่าว ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงหากบริษัทไทย หากต้องการนำแรงงานไทยไปก่อสร้างงานในอินเดีย ก็คือข้อ 3 ที่จะทำอย่างไรจึงจะให้สถานฑูตอินเดียในประเทศไทยออก Employment Visa ให้แก่แรงงานไทยได้โดยไม่มีปัญหา

ผมมีคำแนะนำในเรื่องนี้ดังนี้

  1. จัดทำแผนการใช้กำลังคนของโครงการ (Manpower Mobilization Schedule)
  2. กำลังคนตามข้อ 1. จะต้องแยกประเภทแรงงานให้ชัดเจน เช่น ช่างเชื่อมฝีมือ (Qualified Welder) จำนวน 30 คน, ช่างไม้ฝือมือ (Carpenter) จำนวน 500 คน, ช่างประกอบโครงเหล็ก (Fabricator) จำนวน 200 คน ฯลฯ
  3. จะต้องระบุในแผนการใช้แรงงานข้อ 1. ให้ชัดเจนว่า แต่ละประเภทแรงงานตามข้อ 2. เป็นแรงงานจากประเทศไทยกี่คน และเป็นแรงงานท้องถิ่นอีกกี่คน
  4. จากนั้นให้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าจ้าง ขออนุมัติจัดแรงงานตามแผนดังกล่าวต่อไป
  5. เมื่อได้รับหนังสืออนุมัติจากผู้ว่าจ้างแล้ว หนังสือดังกล่าวจะเป็นใบเบิกทาง ที่จะใช้รวมกับเอกสารทั่วไปเพื่อขอ Employment Visa จากทางสถานฑูตได้
  6. เมื่อทราบชื่อแรงงานที่จะไปงานที่อินเดีย ก็ทำการจัดทำ Passport ให้คนงานดังกล่าว และยื่นเรื่องขอวีซ่าทำงาน ตามโควต้า ที่ระบุในหนังสือตามข้อ 4 จนครบจำนวนคนที่ได้รับอนุมัม
ตอนบริษัทฯส่งผมไปทำงานที่ประเทศบรูไนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตอนนั้นก็ทำในวิธีเดียวกันนี้ และผมจำได้ว่าตอนนั้นผมได้ Employment Visa ในโควต้า “Plumber”